ปัญหาที่ผู้ใช้งาน WordPress เริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้นในปัจจุบันก็คือ เว็บโหลดช้า ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อเว็บธุรกิจในปัจจุบัน ดังนั้นเรามาดูถึงสาเหตุ และทางแก้ที่มีกันครับ
ทำไมเว็บถึงต้องโหลดเร็ว
งานวิจัยพบว่าตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2016 สมาธิมนุษย์สั้นลงจาก 12 วิ เหลือแค่ 7 วิ ฉะนั้นเว็บไซต์ของคุณมีเวลาน้อยลงในการที่จะดึงให้เขาอยู่ต่อ
จากกรณีศึกษาของ StrangeLoop ที่ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บ Amazon, Google และเว็บขนาดใหญ่อื่นๆ ได้ผลสรุปว่า เว็บโหลดช้าขึ้น 1 วินาที จะส่งผล ดังนี้
- ทำให้สูญเสีย Conversion 7% เปรียบได้กับ ลูกค้า 100 คนเข้าร้านคุณแต่ไม่ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 7 คนหากเว็บช้าลง 1 วินาที
- การดูหน้าเว็บลดลง 11%
- ความพึงพอใจของลูกค้าลดลง 16%
และงานวิจัยที่ให้ผลที่น่าตกใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผู้เข้าเว็บกว่า 50% ไม่กลับมาเข้าเว็บที่โหลดช้ากว่า 3 วินาทีอีกเลย
นอกจากนี้ Google และ search engine อื่นๆ เริ่มลงโทษเว็บที่ช้า โดยลดตำแหน่งผลลัพธ์การค้นหาลง โดยให้อยู่ลำดับล่างๆ หรือให้ไปอยู่ในผลลัพธ์หน้าหลังๆ นั่นเอง

วิธีเช็คความเร็วเว็บไซต์
ข้อผิดพลาดใหญ่หลวงของมือใหม่ WordPress คือ พอเข้าเว็บที่พวกเขาทำแล้วรู้สึกว่า “ก็ไม่ช้านี่” คือ ยังไม่ได้ทดสอบด้วย Tool ที่ได้มาตรฐาน แต่ใช้เพียงความรู้สึกส่วนตัว
และถึงแม้ว่า Cache บน Browser อย่างเช่น Chrome จะช่วยให้ผู้เข้าเว็บไม่ต้องโหลดหน้าซ้ำทำให้โหลดเร็วเหมือนโหลดเว็บจากเครื่องตัวเองเลยก็ตาม แต่ก็อย่าลืมคำนึงถึงการเข้าเว็บในครั้งแรกด้วย เพราะการเข้าครั้งแรกนั้น browser จะยังไม่มี cache ของเว็บคุณอยู่ นั่นถึงจะเป็นความเร็วที่แท้จริงของเว็บคุณ และหากเว็บคุณโหลดช้าก็ไม่มีทางที่ผู้เข้าเว็บจะกลับมาใช้เว็บคุณอีก นั่นจึงส่งผลให้ Cache บน Browser แทบจะไม่มีประโยชน์เลย
ดังนั้นเราจึงควรตรวจสอบด้วย Tool ที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำยิ่งกว่า เช่น
- https://tools.pingdom.com
- https://gtmetrix.com
- Google Pagespeed Insight
- https://www.isitwp.com/free-website-speed-test-tool-for-wordpress/

มาถึงจุดนี้ คุณอาจจะลองนำเว็บของคุณไปทดสอบกับ Tools สักตัวข้างต้นมาแล้ว แต่คุณก็คงอยากรู้ว่าความเร็วที่ดีที่สุดที่ควรจะทำได้ในการโหลดคือเท่าไหร่ คำตอบก็คือ น้อยกว่า 3 วินาที หรือ ยิ่งเร็วได้เท่าไหร่ก็ยิ่งดี
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ WordPress หรือ เว็บช้าลง
สาเหตุหลักๆ มีดังนี้
- Web Hosting หรือ Server
- ไม่ใช้ปลั๊กอิน Cache
- เว็บมีไฟล์ขนาดใหญ่อยู่มาก โดยเฉพาะไฟล์ภาพ
- เลือกใช้ปลั๊กอินที่ถูกเขียนมาแบบไม่คำนึงถึงความเร็วในการรันโค้ด หรือ เลือกใช้ปลั๊กอินที่ใช้ทรัพยากรสูง
- External scripts เช่น ads, tag, pixel และอื่นๆ
สิ่งที่ต้องทำหากต้องการให้ WordPress หรือ เว็บโหลดเร็วขึ้น
เลือก Server ให้เหมาะสม
ในด้าน server นี้ ต้องคำนึงถึง 2 เรื่องหลักๆ ด้วยกันดังนี้
- ทรัพยากรที่เว็บนั้นๆ ต้องใช้งาน เช่น Ram / CPU
- ปริมาณผู้เข้าชม
ผมจะขอยกอย่างง่ายๆ ในการเลือก server ดังนี้
- Shared Hosting เหมาะสำหรับ เว็บบริษัท, เว็บองค์กร เว็บแคตตาล็อกสินค้า หรือ เว็บโรงแรม และเว็บที่เน้นการให้ข้อมูลทั่วไป
- VPS เหมาะสำหรับเว็บ e-commerce, เว็บข่าว, เว็บโรงแรมที่มีระบบจอง และเว็บที่มีระบบเพิ่มเติมมากกว่าการให้ข้อมูล
- Cloud Server เหมาะสำหรับเว็บ e-commerce ขนาดใหญ่, เว็บข่าวขนาดใหญ่, เว็บจองตั๋ว เนื่องจากสามารถใช้ทรัพยากรได้สูงแต่จ่ายเงินตามจริง เช่น ช่วงเวลามีการเปิดจองตั๋วก็ใช้ทรัพยากรสูงๆ แต่ไม่มีการขายตั๋วก็ใช้ทรัพยากรน้อย
- Cloud Server แบบแยก Service เหมาะกับเว็บ e-commerce ขนาดใหญ๋มาก หรือเว็บที่มีการใช้ทรัพยารสูงมากๆ โดยจะทำการแยก service หรือ โปรแกรม ภายใน server ออกเป็นหลายๆ server เช่น จากเดิม Server 1 เครื่องจะต้องรับ server program, database program และ storage อยู่ที่เดียวกัน แต่หากเป็นแบบแยก Service จะแยกแต่ละโปรแกรมไปรันอยู่บน Cloud Server คนละตัว เช่น
- server 1 ตัวสำหรับ server program
- Server 1 ตัวสำหรับ database program
- Server storage 1 ตัวสำหรับเก็บไฟล์ข้อมูล เช่น ไฟล์ภาพ

ติดตั้ง cache plugin
WordPress คือ เว็บที่สร้างเนื้อหาอย่าง dynamic นั้นหมายความว่า ทุกๆ ครั้งที่มีการโหลดหน้าเว็บจะมีการสร้างหน้าเว็บใหม่ๆ ทุกๆ ครั้ง แต่ cache นั้นก็คือ ทำให้มันเป็น static คือสร้างหน้าไว้แล้วก็ดึงหน้านั้นๆ มาใช้หลายๆ ครั้งนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้ทำให้เร็วขึ้นได้ 2 – 5 เท่าทีเดียว
Dynamic กับ static มีโฟลว์ยุ่งยากต่างกันแค่ไหน
Dynamic ต้องทำขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
- ผู้เข้าชมเข้าเว็บ
- ไปอ่านข้อมูลโค้ด php ของ wordpress
- ไปดึงข้อมูลจาก mysql
- แปลงมันเป็น html content
- ส่งไปยัง browser ของผู้เข้าชม
Static ขั้นตอนต่างๆ จะเหลือเพียง
- ผู้เข้าชมเข้าเว็บ
- ส่ง html ที่แปลงมาจาก php + mysql แล้ว ไปยัง browser ของผู้เช้าชมเว็บ
ปลั๊กอิน Cache ที่แนะนำมีดังนี้
- WP Super Cache
- Wp Rocket
- Wp Faster Cache
จัดการไฟล์ภาพ
ไฟล์ภาพ คือสิ่งที่ทำให้เว็บโหลดนานมากขึ้น เนื่องจากไฟล์ภาพที่สวยงามและชัดเจน มักจะมีขนาดใหญ่เสมอ แบบนี้อาจจะมีคนคิดว่า ก็ออกแบบเว็บให้มีภาพน้อยๆ ไปเลย ก็น่าจะช่วยให้เว็บโหลดเร็วขึ้นได้อย่างง่ายๆ
แต่จากการวิจัยนั้นพบว่า การใช้ภาพสีทำให้ผู้คน 80% มีโอกาสอ่านเนื้อหาของคุณมากขึ้น
แต่หากภาพคุณใหญ่เกินไปก็จะไม่เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนอ่านเนื้อหา แต่จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการไล่ผู้อ่านนั้นๆ เสียมากกว่า เนื่องจากต้องโหลดหน้าเว็บนานเกินไป
วิธีที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ หาโปรแกรมมาช่วยลดขนาดภาพก่อนอัพขึ้นเว็บ โดยเฉพาะภาพถ่ายจากมือถือสมัยนี้ ซึ่งโปรแกรมอาจจะช่วยลดขนาดได้ถึง 5 เท่า โดยที่ไม่ทำลายความคมชัดมากนัก
ชนิดของไฟล์ภาพก็มีส่วน ขอยกตัวอย่าง 2 ชนิดหลักที่เรามักใช้กันอยู่คือ JPG หรือ JPEG กับ PNG ซึ่งเราควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยทั้ง 2 ชนิด มีข้อดีข้อเสีย ดังนี้
- JPG / JPEG ไฟล์ภาพมีการบีบอัดจึงมีขนาดเล็กและลดทอนความคมชัดลงบ้าง เหมาะกับภาพปกติในเว็บไซต์
- PNG ไฟล์ที่ไม่ผ่านการบีบอัดจะชัดเจนมากแต่มีขนาดใหญ่มากเช่นกัน ดังนั้นจึงควรใช้เมื่อ ต้องการภาพที่มี พื้นหลังโปร่งแสง ซึ่ง JPG / JPEG นั้นทำไม่ได้ เช่น ภาพโลโก้ หรือ ไอคอนบางอย่าง
ปัจจุบันมีไฟล์ชนิดใหม่ที่มีความคมชัดสูงและขนาดเล็กลงมาก เรียกว่า WebP
WebP คืออะไร
Google ได้พัฒนาไฟล์ชนิด WebP ตั้งแต่ปี 2010 และถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของ Google และแอนดรอยด์ WebP
- WebP ที่ปรับแบบ lossless จะมีขนาดเล็กกว่าไฟล์ png 26%
- WebP ที่ปรับแบบ lossly จะเล็กกว่าไฟล์ jpg 25-34%
โดยไฟล์ภาพของ WebP นั้นจะไม่ต่างไปจากต้นฉบับเลย และสามารถแสดงผลแบบพื้นหลังโปร่งใสเหมือนของ png ได้อีกด้วย
แต่ข้อเสียสำคัญคือ Safari และ Browser บน ios ยังไม่รองรับ ตรวจสอบการรองรับ ณ ปัจจุบันได้ที่นี่
ซึ่งปลั๊กอินที่ช่วยจัดการแปลงไฟล์ภาพเป็น WebP ก็คือ ปลั๊กอิน Cache ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งจะมีฟิจเจอร์จัดการเกี่ยวกับ WebP อยู่
อีกวิธีที่ช่วยให้เว็บ WordPress เร็วขึ้น ก็คือ Update สม่ำเสมอ
การอัพเดทของ WordPress แต่ละครั้งนั้น เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็คือเรื่อง ความเร็ว ดังนั้นการ Update จึงมีโอกาสช่วยให้เว็บโหลดเร็วขึ้นด้วย
ซึ่งเหตุผลทั้งหมดที่ WordPress ทำการอัดเดทเวอร์ชั่น มีดังนี้
- เพิ่มความปลอดภัย
- เพิ่มฟิจเจอร์ใหม่
- เพิ่มความเร็ว
- แก้ไขบัค หรือ ข้อผิดพลาด
- ปรับใช้งานได้กับปลั๊กอินที่เคยมีปัญหากับเวอร์ชั่นก่อนหน้า
สรุปเรื่อง WordPress ช้าและการทำให้เร็ว
การที่จะทำให้เว็บ WordPress ที่ช้านั้นเร็วขึ้นก็ต้องไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่ผมเห็นความสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ Server ซึ่งจากประสบการณ์เว็บที่เคยโหลดช้า 7-10 วินาที พอย้ายไปใช้ Cloud Server ช่วยให้โหลดเร็วขึ้นจนเหลือเพียง 2-3 วินาทีเท่านั้น และอีกเรื่องก็คือ ปลั๊กอินที่ใช้งาน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ใช้งาน WordPress คงพบเจอกันด้วยตัวเองว่า ตอนเริ่มติดตั้ง WordPress นั้นเว็บโหลดเร็วหลัก 1-2 วินาที แต่พอเริ่มติดตั้งปลั๊กอินเพิ่มไปเรื่อยๆ เว็บก็มีกระดองกลายเป็นเต่าไปซะได้
แหล่งอ้างอิง :
https://www.wpbeginner.com/wordpress-performance-speed/#whyspeed